top of page

เพราะอะไรถึงเศร้ากังวลมากช่วงเรียน ป.โท ป.เอก

3 พฤษภาคม 2561

นพ.พร ทิสยากร

วันก่อนมีคนส่ง link ที่น่าสนใจของ The Matter มาให้ดู 


https://www.facebook.com/thematterco/photos/a.1735876059961122.1073741831.1721313428084052/2032355473646511/?type=3&theater


หมอก็เลยลองนึกนึกดูว่าอะไรพอจะอธิบายถึงความเศร้า ความวิตกกังวล หรือปัญหาโรคทางจิตใจที่อาจเกิดในหมู่คนเรียน ป.โท ป.เอก โดยคิดวิเคราะห์ตามประสบการณ์ที่เคยพบเจอกับตัวเองหรือคนรอบข้างบ้าง ประสบการณ์ในการดูแลผู้รับบริการกลุ่มนี้บ้าง ร่วมกับความรู้ทฤษฎีทางจิตใจและสมองต่างๆ

ก่อนอื่นต้องบอกว่าช่วงอายุประมาณ 20-40 ปีนี้เป็นช่วงที่เกิดโรคทางจิตใจได้บ่อยอยู่แล้ว ยกตัวอย่าง ช่วงอายุที่มักเริ่มเกิดโรคซึมเศร้าคือ 25-45 ปี โรควิตกกังวลคือ 25-53 ปี และ ปัญหาการใช้สารเสพติดอยู่ระหว่าง 19-29 ปี แตกต่างกับโรค Schizophrenia ที่มักจะเกิดในช่วงวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่ตอนต้น หรือโรคสมองเสื่อมที่จะเกิดหลังอายุ 60 กว่าปี

ถ้าคิดตามทฤษฎีการพัฒนาทางจิตใจของ Erik Erikson ช่วงอายุของคนเรียนป.โท ป.เอกจัดอยู่ในวัยผู้ใหญ่ตอนต้น (20-39 ปี) อยู่ตรงกลางระหว่างวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ตอนปลาย อุปสรรคความเครียดต่างๆที่เกิดขึ้นในช่วงวัยนี้ก็อาจนำมาสู่ความคิดความรู้สึกด้านลบที่สัมพันธ์กับช่วงวัยนี้หรือวัยรอบข้าง กล่าวคือความรู้สึกเหงาเศร้าโดดเดี่ยว (Isolation) ความสับสนในบทบาทของตัวตน (Role diffusion) หรือความเฉื่อยชาจากความรู้สึกล้มเหลวในหน้าที่การงาน (Stagnation) ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้ก็ล้วนแต่เป็นเชื้อไฟชั้นดีของโรคซึมเศร้า และวิตกกังวล

ทว่ามุมมองของจิตแพทย์ต่อปัญหาอารมณ์หรือพฤติกรรมต่างๆก็ไม่สามารถจำกัดอยู่กับแค่ทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่ง แนวคิดเรื่องปัจจัยทางร่างกาย-จิตใจ-สังคม (bio-psycho-social model) ของ Engel ที่ใช้ในหมู่จิตแพทย์ส่วนหนึ่ง เมื่อนำมาประสานกับมุมมองด้านระยะเวลาของการเกิดปัญหาในคนคนหนึ่ง (4P model) ก็อาจนำมาใช้ทำความเข้าใจได้ว่าเพราะอะไรปัญหาซึมเศร้า วิตกกังวลถึงถูกกล่าวถึงมากขึ้นในกลุ่มนิสิตนักศึกษาปริญญาโทหรือปริญญาเอก ดังแสดงในตารางด้านซ้าย

ถ้าอ่านแล้วงงหรือยิ่งท้อก็อย่าเพิ่งตกใจ สังเกตุดีๆหลายๆปัจจัยที่อยู่ในตารางนี้เป็นปัจจัยที่สามารถควบคุมหรือเปลี่ยนแปลงได้ ปัจจัยที่อยู่ในช่องปัจจัยป้องกัน (Protective factors) ก็ล้วนเป็นปัจจัยที่มีอยู่รอบตัวไม่มากก็น้อย ทีมงานกายใจคลินิกอยากเป็นกำลังใจให้หลายหลายคนที่ทุกข์ใจอยู่กับการเรียนการทำวิจัย ให้หายใจลึกๆ ดูแลตัวเองให้ดี ค่อยๆทำไปทีละวัน เอ่ยปากหาคนช่วยเหลือสนับสนุน ความทุกข์ยากต่างๆก็คงจะผ่านพ้นไปได้ครับ…


อ้างอิง:
1) Ronald C. Kessler, PhD, G. Paul Amminger, MD, Sergio Aguilar‐Gaxiola, MD, PhD, Jordi Alonso, MD, Sing Lee, MD, and T. Bedirhan Ustun, MD. Curr Opin Psychiatry. 2007 Jul; 20(4): 359–364. Age of onset of mental disorders: A review of recent literature. 
2) https://en.wikipedia.org/wiki/Erikson%27s_stages_of_psychosocial_development
3) Engel GL: The clinical application of the biopsychosocial model. Am J Psychiatry 1980;137:535-544.
4) JW Bolton. Case formulation after Engel—The 4P model: A philosophical case conference. Philosophy, Psychiatry, & Psychology, 2014 - muse.jhu.edu.

bottom of page