อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น 2 (ฝั่งติดถนนพญาไท) ห้อง 253
ถนนพญาไท เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
Chamchuri Square Building
2nd floor (Phayathai Road side) Unit no. 253
Phayathai Road, Pathumwan, Bangkok 10330


(บัญชี Line ใหม่ของคลินิก)

29 พฤศจิกายน 2561
นพ.พร ทิสยากร

Photo credit https://www.nationalelfservice.net/mental-health/anxiety/nice-publish-first-clinical-guideline-on-social-anxiety-disorder/
ทุกๆเดือน จะมีคนมาหาหมอด้วยความทุกข์ที่เชื่อมโยงกับการพบปะผู้คน หรือ ในสถานการณ์สังคมต่างๆ ด้วยการรับฟัง และสัมภาษณ์อย่างละเอียด อาจพบว่ามีโรคกลัวการเข้าสังคม (Social Anxiety Disorder หรือ Social Phobia) ซ่อนอยู่ โรคนี้เป็นอีกโรคหนึ่งของกลุ่มโรควิตกกังวล พบได้พอควรประมาณ 5 เปอร์เซ็นในประชากรทั่วไป สถานการณ์ที่พบบ่อยเช่น การพูดหน้าชั้นเรียน พูดในที่ประชุม การพบปะกับคนแปลกหน้า หรือ ต้องอยู่ในกลุ่มคนกลุ่มใหญ่
เป็นปกติที่คนเราจะกังวลตื่นเต้นในสถานการณ์สังคมบางอย่าง แต่ผู้ที่มีโรคกลัวสังคมจะมีอาการกลัวกังวลรุนแรงในหลายๆสถานการณ์ต่อเนื่องเป็นเวลานานจนส่งผลให้เกิดความทุกข์ทรมาน และกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน
อาการเด่นของโรคกลัวสังคม คือ ความรู้สึก ความคิด และอาการทางกายของความกลัว กังวล ตื่นเต้นต่อสถานการณ์สังคมต่างๆ ความรู้สึกประหม่า เขินอาย ใจสั่น หายใจเร็ว หน้าแดง หน้าซีด มือสั่นชา พูดตะกุกตะกัก พูดไม่ออก หรือถึงขั้นแพนิก ร่วมกับความคิดลบเกี่ยวกับตนเองว่าคงไม่สามารถแสดงออกต่อหน้าคนอื่นได้ดี พูดไม่ดี อาจจะทำอะไรผิดพลาดมากๆ คาดว่าคนอื่นมองเห็นจุดผิดปกติของตนเองอยู่ หรือ เค้าคงไม่ชอบเรา กลัวเป็นจุดสนใจ มองตนเองว่าเป็นส่วนเกิน หรือตัวประหลาด องค์ประกอบเหล่านี้รุนแรงจนหลายๆคนไม่สามารถเรียน ทำงาน หรือใช้ชีวิตในสังคมได้ปกติ หลีกหนีสถานการณ์ต่างๆที่ตัวเองกลัว ไม่สามารถแสดงศักยภาพของตนเองออกมาได้เต็มที่
ปัญหาในบ่อยครั้งพบมีโรคอื่นร่วมด้วยเช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวลทั่วไป แต่ปัญหาการเข้าสังคมอาจเป็นปัญหาหลักที่มีอยู่มานานก่อนหน้า ผู้ป่วยบางรายที่มีอาการของโรคกลัวสังคมอาจจะใช้เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอร์ หรือกัญชาเพื่อลดอาการตื่นเต้นประหม่าของตนจนสุดท้ายติดสารเหล่านี้ไปเลย
สาเหตุการเกิดอาการตื่นเต้นกลัวสังคมนั้นมีหลากหลาย ประวัติโรควิตกกังวล หรือโรคกลัวอื่นๆในครอบครัวอาจช่วยยืนยันความเกี่ยวข้องของพันธุกรรม คนคนนั้นอาจมีระบบความกลัวของสมองส่วน amygdala ที่ไวกว่าคนปกติ เชื่อมโยงกับระบบประสาทอัตโนมัติที่ก่อให้เกิดอาการทางกายที่รุนแรงในสถานการณ์ความกลัวนั้นๆ ระบบสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมความกลัวกังวล เช่น serotonin, norepinephrine, GABA อาจทำงานรวนไป นอกจากนั้น นิสัยพื้นฐานที่เป็นคนขี้กังวล เก็บตัว ไม่ค่อยเปิดรับประสบการณ์ใหม่ๆ อาจเสริมให้เกิดภาวะกลัวสังคมง่ายขึ้น การเรียนรู้จากเหตุการณ์ชีวิตที่เคยทำอะไรผิดพลาดน่าอาย ถูกแกล้ง ถูกตำหนิในสถานการณ์สังคม ก็มีรายงานในบางเคส
การรักษาทางการแพทย์ให้ผลดีพอควร สิ่งสำคัญ คือ คนคนนั้นต้องเข้าใจว่าตนเองกำลังเผชิญหน้ากับโรคที่เรียกว่าโรคกลัวสังคม หมอมักจะสนับสนุนให้ผู้ป่วยไปอ่านข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับปัญหานั้นๆ ให้ผู้รับบริการเป็นผู้เชี่ยวชาญของโรคนั้นๆ จะได้ร่วมกับหมอในการวางแผนการรักษาร่วมกัน การรักษาของโรคกลัวสังคมคือ การใช้ยาทางจิตเวช เช่น ยาต้านเศร้า ยาคลายกังวล หรือยาลดความตื่นตัวของระบบประสาทอัตโนมัติ ควบคู่กับการฝึกผ่อนคลาย (Relaxation techniques)และ การทำจิตบำบัดแบบ Cognitive Behavioral Therapy (CBT) โดยเน้นในการให้ผู้ป่วยค่อยๆกลับไปเผชิญกับสถานการณ์สังคมเหล่านั้นเมื่อพร้อม (Exposure Therapy)
หมอรับทราบและเห็นอกเห็นใจผู้ที่มีอาการเหล่านี้เป็นอย่างดี ว่าอาการที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงจริง น่ากลัว ทุกข์ทรมาน และส่งผลกับการใช้ชีวิตอย่างมาก แต่หมอก็เชื่อในศักยภาพของทุกท่านที่จะร่วมมือกันก้าวข้ามความกลัวกังวลต่างๆ เพื่อจะกลับไปใช้ชีวิตที่สบาย โล่ง สงบ กลับไปทำหน้าที่ของชีวิตได้อย่างเต็มที่ในที่สุดครับ ...
อ้างอิง
1. Leichsenring F1, Leweke F1. Social Anxiety Disorder. N Engl J Med. 2017 Jun 8;376(23):2255-2264.
2. https://www.nimh.nih.gov/health/publications/social-anxiety-disorder-more-than-just-shyness/index.shtml
Photo credit https://www.nationalelfservice.net/mental-health/anxiety/nice-publish-first-clinical-guideline-on-social-anxiety-disorder/