top of page

19 มีนาคม 2562

นพ.พร ทิสยากร

แผนปลอดภัย กายใจคลินิก.jpg
ตัวอย่างแผนปลอดภัย กายใจคลินิก 2019.03.1

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หมอได้ไปฟังเสวนาเรื่องภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่นวัยเรียนที่จุฬา มีอาจารย์จิตแพทย์เด็กท่านหนึ่งพูดถึงการเขียนแผนเพื่อป้องกันการทำร้ายตัวเองประกอบการทำจิตบำบัด ทำให้หมอนึกถึงความสำคัญของแผนปลอดภัย (safety plan) ที่หมอเคยต้องทำร่วมกับคนไข้ที่เสี่ยงในการทำร้ายตัวเอง ในช่วงที่เป็นหมอฝึกหัดในประเทศสหรัฐอเมริกา

ในวงการจิตแพทย์เคยพูดถึง suicidal contract ที่ให้ผู้ป่วย “สัญญา” ว่าจะไม่ทำร้ายตัวเอง หากมีความคิดอยากตายขึ้นมา แต่เราก็พบว่าสัญญานี้ไม่ค่อยป้องกันการทำร้ายตัวเองซักเท่าไหร่ ดังนั้นจึงมีผู้พยายามพัฒนา “แผนปลอดภัย” (safety plan) เพื่อนำมาใช้เป็นหนึ่งในระบบป้องกันการทำร้ายตัวเองในอนาคตของผู้ป่วยนั้นๆ และพบว่ามีผลช่วยลดการทำร้ายตัวเอง เพิ่มการขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงได้ดีพอสมควร 

แผนปลอดภัยเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายทำร้ายตัวเองในอนาคต ที่มาเข้ารับการรักษาในระบบแล้ว เช่น มาที่ห้องฉุกเฉิน คลินิกผู้ป่วยนอกจิตเวช หรือ ก่อนออกจากหอผู้ป่วยใน แต่ก็อาจสามารถปรับใช้ในผู้ที่ยังไม่เคยเข้ารับการรักษาเพื่อเพิ่มความปลอดภัยเบื้องต้นได้ ผู้รับบริการอาจเขียนข้อมูลลงในแผนปลอดภัยด้วยตนเอง หรือ เขียนโดยมีคนที่ไว้ใจช่วยกันคิดช่วยกันระบุข้อมูลลงไป แต่ดีที่สุดคือการเขียนร่วมกับพยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตบำบัด หรือ จิตแพทย์ของท่าน เพื่อให้เกิดการสะท้อน นึกคิด และใส่ข้อมูลที่สำคัญที่สุดออกมา

สัญญาณเตือน (warning signs) ของการทำร้ายตัวเองแตกต่างกันในแต่ละคน ที่พบบ่อยเช่น นอนไม่หลับ ใช้สุรา/สารเสพติดหนักๆ ไม่ไปเรียน/ทำงาน อารมณ์เศร้า/เจ็บปวดภายในมาก คิดกังวลวนเวียนไม่หยุด ร้องไห้ตลอดเวลา คิดเรื่องความตาย/การฆ่าตัวตาย วางแผนทำร้ายตัวเอง เป็นต้น

วิธีรับมือ (copings) กับสัญญาณเตือน และความคิดทำร้ายตัวเองอาจมีหลากหลายที่ทำได้ด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการกิน นอน ดูหนัง ฟังเพลง ดูทีวี เล่นเกมส์ เล่นเนท อ่านหนังสือ เขียนระบาย วาดรูป ถ่ายรูป ทำงานประดิษฐ์ ออกกำลังกาย โยคะ นวด อาบน้ำอุ่น สระผม ปลูกต้นไม้ เดินเล่น สวดมนต์ ทำสมาธิ ไปวัด หายใจลึกๆ กินยาฉุกเฉินที่หมอสั่ง และ อื่นๆอีกมากมาย

สถานที่ปลอดภัย (safe environments) มักจะเป็นที่ที่ไม่ต้องอยู่คนเดียว ไม่เหงา ไม่มืด เป็นสถานที่ช่วยลดการกระตุ้นในการทำร้ายตัวเอง อาทิเช่น โรงเรียน มหาวิทยาลัย ห้องชมรม ห้องสมุด โรงยิม ศูนย์กีฬา ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ที่ทำงาน บ้านเพื่อน บ้านญาติ ห้องรับแขก ห้องครัว สวนสาธารณะ วัด โบสถ์ หรือ แม้กระทั่ง คลินิก/โรงพยาบาล 

คนที่คุยด้วยได้ (support persons) ควรเป็นกลุ่มคนที่เราไว้ใจ ไม่เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง เป็นคนสำคัญในชีวิตที่พร้อมจะให้การช่วยเหลืออย่างต่ำสามคน ส่วนมากเป็น พ่อแม่พี่น้อง ลุงป้าน้าอา คนในครอบครัว แฟน คนรู้ใจ เพื่อนสนิท เพื่อนโรงเรียน เพื่อนร่วมงาน รุ่นพี่รุ่นน้อง อาจารย์ คนที่ท่านโทรปรึกษาบ่อยๆ หรือ ใครก็ได้ที่คิดว่าจะช่วยเหลือท่านได้ในเวลาวิกฤต

ผู้เชี่ยวชาญ หรือ สถานพยาบาล (professional helps) เน้นให้เป็นบุคคล หรือ สถานพยาบาลที่เข้าถึงได้จริง เช่น เป็นหน่วยงานที่ท่านเคยรับบริการ สถานพยาบาลใกล้บ้าน โรงพยาบาล หรือ คลินิกที่มีความเชี่ยวชาญทางจิตเวช อาจเป็นจิตแพทย์ นักจิตวิทยา พยายาบาลจิตเวช นักสังคมสงเคราะห์ ที่เคยช่วยเหลือทำงานร่วมกับท่าน ในสภาวะวิกฤติ ท่านอาจโทรศัพท์ไปหาบุคคล หรือ สถานที่เหล่านั้น เพื่อขอคำแนะนำ หรือ เดินทางไปยังสถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อรับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญได้ทันท่วงที

สุดท้าย ถ้าดำเนินการตามหัวข้อต่างๆที่กล่าวไป แล้วไม่ได้ผล เราแนะนำให้ลองโทรหาสายด่วนให้คำปรึกษาต่างๆ หรือเดินทางไปยังห้องฉุกเฉินใกล้บ้านท่าน เพื่อความปลอดภัย

แผนปลอดภัยอาจช่วยท่านได้ ถ้าท่านทำเสร็จ และเก็บไว้กับตัวในกระเป๋าสตางค์ กระเป๋าถือ หรือ แม้แต่ถ่ายรูปไว้ในมือถือ ในเวลาที่เสี่ยงที่วิกฤติต่อการทำร้ายตนเอง จะได้นำมาทบทวน และดำเนินการทำตามแผนที่ท่านได้วางเอาไว้ เพื่อช่วยเหลือตนเองได้อย่างปลอดภัย

เพราะทุกทุกคนมีคุณค่าของตนเอง ซึ่งบางครั้งเรายังมองไม่เห็น เพราะชีวิตของทุกคนไม่ง่าย และต่างก็ต้องเผชิญอุปสรรคต่างต่างนานา แม้ในวันที่ไม่เหลือใคร แต่ก็อาจจะมีใครที่ห่วงใยท่านอยู่โดยท่านคิดไม่ถึง บ่อยครั้งความทุกข์ทรมานมากจากปัญหา หรือ โรคต่างๆมักจะค่อยๆดีขึ้นคลี่คลายได้เมื่อเวลาผ่านไป อนาคตของหลายๆคนอาจมีช่วงเวลาที่ดี และมีความหมายรออยู่ ... ดูแลตนเอง เอ่ยปากขอความช่วยเหลือ อยู่เพื่ออยู่ หายใจ หายใจลึกลึก ... เป็นกำลังใจให้ครับ

ตัวอย่างแผนปลอดภัยสามารถนำแผนในรูปไปใช้ได้เลยครับ

bottom of page