top of page

18 ธันวาคม 2561

ณิชา หลีหเจริญกุล

PTSD.jpg

เวลาที่เราเผชิญกับเหตุการณ์ที่สั่นคลอน สะเทือนจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ หรือมนุษย์ นั่นคือ Trauma (บาดแผลทางใจ) ซึ่งแยกย่อยได้อีกเป็น 2 ประเภท 1. Trauma และ 2. Complex trauma ซึ่งแตกต่างกันตรงช่วงระยะเวลา 

Trauma จะเป็นเหตุการณ์เดียวที่เกิดขึ้น แล้วจบไป โดยที่เราไม่ทันตั้งตัว มีความรุนแรงมาก อันตรายถึงชีวิต ทำให้เกิดความหวาดกลัว สิ้นหวัง เกิดได้จากภัยธรรมชาติ เช่น สึนามิ หรือภัยคุกคามจากมนุษย์ เช่น สงคราม 

สำหรับ Complex trauma จะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ซับซ้อนและยาวนานหลายปีติดต่อกันในช่วงวัยเด็ก หรือวัยรุ่น เช่น ความรุนแรงในครอบครัว การคุกคามทางเพศอย่างต่อเนื่อง เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ แม้เหตุการณ์จะจบลงแล้ว แต่ผลกระทบนั้นยังอยู่

ผลกระทบจากบาดแผลทั้งสองประเภท อาจทำให้เกิดความรู้สึก ความคิด และความทรงจำทั้งภาพ หรือร่างกายรู้สึกไม่ปลอดภัย สิ้นหวัง หดหู่ สงสัยเกี่ยวกับคุณค่า ความหมายของชีวิตและตัวตนของตัวเอง หรือแม้แต่ไม่อยากมีชีวิตอยู่ เหมือนคอมพิวเตอร์ที่เกิดอาการรวน แม้เหตุการณ์จะจบลงแล้ว แต่มันเหมือนเพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อกี้ หรือเมื่อวาน ภาวะนี้ เรียกว่า Post Traumatic Stress Disorder หรือ PTSD เป็นภาวะที่ทำให้จิตใจสับสน หลงเวลา ซึ่งมันเป็นปฏิกิริยาโดยธรรมชาติของจิตใจที่จะตอบสนองกับเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ ภาวะนี้อาจทำให้เกิดโรคต่างๆ ทั้งทางร่างกายและจิตใจได้ หากไม่ได้รับการเยียวยารักษา

มีจิตบำบัดหลายรูปแบบที่สามารถใช้ในการเยียวยา Trauma / PTSD เช่น Psychodynamic Psychotherapy, Eye Movement Desensitisation Reprocessing Therapy (EMDR Therapy), Expressive Arts Therapy, Mentalization-Based Therapy (MBT), Trauma - Focused Cognitive Behavioral Therapy (TF-CBT) 

เป้าหมายส่วนหนึ่งในการทำจิตบำบัดนั้น เพื่อให้ผู้ที่มารับบริการเกิด Posttraumatic Growth หมายถึง การเติบโตหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจ โดยจะมีปัจจัย 5 อย่างที่สามารถทำให้ดำเนินชีวิตต่อไปได้ 
1. สายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับใครสักคน 
2. การมองเห็นความเป็นไปได้ของชีวิต 
3. ความเข้มแข็งในจิตใจ 
4. มองเห็นความรื่นรมย์ในชีวิต 
5. จิตวิญญาณเติบโต 
สิ่งเหล่านี้อาจเป็นต้นทุนที่ให้ชีวิตยอมรับ มีกำลังที่จะเผชิญกับความเจ็บปวด เพราะมองเห็นความเข้มแข็งในตัวเองและเติบโตได้ เพื่อช่วยเคลื่อนชีวิตให้ดำเนินต่อไปได้ 


อ้างอิง
1. Allen, J. G., & Fonagy, P. Trauma. In P. Luyten, L. C. Mayes, P. Fonagy, M. Target, & S. J. Blatt (2015), Handbook of Psychodynamic Approaches to Psychopathology. New York: The Guilford Press.
2. American Psychiatric Association. (2013). Trauma and Stressor Related Disorder. In Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders (DSM-5) (Fifth ed.). Virginia: American Psychiatric Association.
3. Tedeschi, R. G., & Calhoun, L. G. (2004). Posttraumatic Growth : Conceptual Foundations and Empirical Evidence. Psychological Inquiry, 15 (1), 1-18.

bottom of page