อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น 2 (ฝั่งติดถนนพญาไท) ห้อง 253
ถนนพญาไท เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
Chamchuri Square Building
2nd floor (Phayathai Road side) Unit no. 253
Phayathai Road, Pathumwan, Bangkok 10330


(บัญชี Line ใหม่ของคลินิก)

13 มิถุนายน 2561
พญ. ฐานิยา บรรจงจิตร

Photo credit: www.pixabay.com
เชื่อว่าคุณผู้หญิงหลายท่านอาจประสบกับการมีอารมณ์เปลี่ยนแปลง หรือมีอาการทางด้านร่างกายต่างๆในช่วงก่อนมีประจำเดือน จนอาจทำให้ใช้ชัวิตประจำวันหรือทำงานได้ไม่ปกติเพราะอาการเหล่านั้น ซึ่งจริงๆแล้วภาวะดังกล่าวถือเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในกลุ่มประชากรผู้หญิงเลยค่ะ โดยในบางรายอาจมีความรุนแรงมากน้อยแตกต่างกัน
- กลุ่มอาการอารมณ์ผิดปกติก่อนมีประจำเดือนเป็นอย่างไร พบได้เยอะไหม?
กลุ่มอาการอารมณ์ผิดปกติก่อนมีประจำเดือน (premenstrual dysphoric disorder หรือตัวย่อคือ PMDD) เป็นรูปแบบกลุ่มอาการที่รุนแรงของกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน ทำให้เกิดการมีอาการผิดปกติทางร่างกายจิตใจหรืออารมณ์อย่างรุนแรงโดยสัมพันธ์กับช่วงก่อนการมีประจำเดือน ทำให้มีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันหรือการทำงาน ซึ่งถูกกระตุ้นได้จากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน (ovarian steroid hormone)ในช่วงครึ่งหลังของวงรอบการมีประจำเดือน อาการมักเกิดขึ้นในช่วง 1 สัปดาห์ก่อนมีประจำเดือน จากนั้นเริ่มดีขึ้นภายหลังการมีประจำเดือน 2-3 วันและหายไปภายใน 1 สัปดาห์หลังประจำเดือนหมด ทั้งนี้กลุ่มอาการอารมณ์ผิดปกติก่อนมีประจำเดือนพบได้ถึง 3-7% ของผู้หญิงทั่วไป ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูงทีเดียวค่ะ อย่างไรก็ตามพบว่า 80% ของผู้หญิงทั่วไปมีภาวะอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงหรือมีอาการด้านร่างกายก่อนมีประจำเดือนเล็กน้อยซึ่งไม่ได้รุนแรงถึงระดับของกลุ่มอาการดังกล่าว
- กลุ่มอาการอารมณ์ผิดปกติก่อนมีประจำเดือนมีอาการอย่างไรได้บ้าง?
อาการของกลุ่มอาการอารมณ์ผิดปกติก่อนมีประจำเดือนสามารถแบ่งได้เป็น 3 ด้านหลักดังนี้
1. อาการด้านอารมณ์ (mood symptoms) : อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่ายขึ้น บางรายอาจมีอารมณ์ซึมเศร้า หรือวิตกกังวลได้
2. อาการด้านพฤติกรรม (behavior symptoms) : รับประทานมากขึ้นหรือน้อยลงกว่าปกติ นอนหลับมากขึ้นกว่าปกติหรือนอนไม่หลับ
3. อาการด้านร่างกาย (physical symptoms) : ปวดศีรษะ คัดตึงเต้านม รู้สึกบวมตามตัว น้ำหนักเพิ่มขึ้น
- กลุ่มอาการอารมณ์ผิดปกติก่อนมีประจำเดือนเกิดจากอะไร?
นอกจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน (ovarian steroid hormone)ในช่วงครึ่งหลังของวงรอบการมีประจำเดือนตามที่ได้อธิบายข้างต้นแล้วแล้ว มีการศึกษาพบว่าอาการด้านอารมณ์ของภาวะดังกล่าวนี้เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของสารสื่อประสาทชนิด serotonin ซึ่งมีระดับลดลงร่วมด้วย นอกจากนี้ในผู้หญิงที่มีประวัติสมาชิกในครอบครัวมีกลุ่มอาการดังกล่าวก็อาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเช่นกันค่ะ
- กลุ่มอาการอารมณ์ผิดปกติก่อนมีประจำเดือนที่ไม่รุนแรงเป็นอย่างไร?
สำหรับกลุ่มอาการอารมณ์ผิดปกติก่อนมีประจำเดือนที่ไม่รุนแรง (premenstrual syndrome หรือตัวย่อคือ PMS) จะมีความรุนแรงน้อยกว่าและมักรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันหรือการทำงานน้อยกว่า โดยการวินิจฉัยจะต้องมีอาการด้านอารมณ์อย่างน้อย 1 อาการ (ซึมเศร้า/หงุดหงิดง่าย/วิตกกังวล/รู้สึกสับสน/แยกตัวจากสังคม) หรืออาการด้านร่างกายอย่างน้อย 1 อาการ (คัดตึงเต้านม/ท้องอืด/ปวดศีรษะ/รู้สึกแขนขาบวมขึ้น) ในช่วง 5 วันก่อนการมีประจำเดือนอย่างน้อย 3 รอบประจำเดือน
- เราจะจัดการกลุ่มอาการอารมณ์ผิดปกติก่อนมีประจำเดือนได้อย่างไร?
การรักษากลุ่มอาการดังกล่าวอาจทำได้โดยการปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ได้แก่ ออกกำลังกายให้พอเหมาะอย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ พักผ่อนให้เพียงพอให้ได้ 6-8 ชั่วโมง งดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน แต่หากอาการยังไม่ดีขึ้นหรืออาการเป็นมากจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ทำให้ทำงานไม่ได้ อาจพิจารณาพบแพทย์เพื่อปรึกษาและรับการรักษาเพิ่มเติมได้ค่ะ
Reference
- Fritz MA, Speroff L. Clinical gynecologic endocrinology and infertility. 8th ed. Philadelphia: Wolters Kluwer Health/Lippincott Williams & Wilkins; 2011. 568–79 p.
- Benjamin James Sadock et al. Synopsis of Psychiatry. 11th ed.: : Wolters Kluwer; 2015. 841–42 p.