อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น 2 (ฝั่งติดถนนพญาไท) ห้อง 253
ถนนพญาไท เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
Chamchuri Square Building
2nd floor (Phayathai Road side) Unit no. 253
Phayathai Road, Pathumwan, Bangkok 10330


(บัญชี Line ใหม่ของคลินิก)

21 กันยายน 2561
พญ. ฐานิยา บรรจงจิตร

Photo credit: www.pixabay.com
โรคแพนิค (Panic disorder) คืออะไร
หลายท่านอาจจะเคยได้ยินชื่อของโรคแพนิคมาก่อน โรคแพนิคจัดอยู่ในกลุ่มโรควิตกกังวลแบบฉับพลันซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว ทำให้คนที่มีอาการเกิดความกลัวหรือไม่สบายใจอย่างรุนแรงร่วมกับมีอาการทางระบบประสาทอัตโนมัติหลายอาการ ส่งผลให้รู้สึกทรมานกับอาการที่เป็นอย่างมาก จนบางครั้งรู้สึกว่าตัวเองกำลังจะเสียชีวิตเลยทีเดียวค่ะ
โรคแพนิคสามารถพบได้ประมาณ 1-4% ในทุกกลุ่มอายุ (เฉลี่ยที่อายุประมาณ 25 ปี) โดยพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 2-3 เท่า สาเหตุอาจเกิดจากพันธุกรรม ความแปรปรวนของเคมีในสมอง โดยเฉพาะ norepinephrine, serotonin, และ GABA และมีการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติที่ไวกว่าปกติ
อาการของโรคแพนิคเป็นอย่างไร
โรคแพนิคจะมีอาการทางระบบประสาทอัตโนมัติตั้งแต่ 4 อาการต่อไปนี้ขึ้นไปเกิดขึ้นพร้อมๆกัน : ใจสั่นหรือหัวใจเต้นเร็ว / เหงื่อแตก / มือสั่นหรือตัวสั่น / หายใจลำบากหรือหายใจไม่ออก / รู้สึกเหมือนมีก้อนขัดในลำคอ / เจ็บหรือแน่นหน้าอก / คลื่นไส้หรือไม่สบายท้อง / เวียนศีรษะ หน้ามืด / ชาตามตัว / รู้สึกหนาวสั่น หรือหนาวๆร้อนๆ / รู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมแปลกไปหรือรู้สึกว่าตัวเองแปลกไปจากเดิม / รู้สึกกลัวว่าจะควบคุมตัวเองไม่ได้ หรือกลัวว่าจะเป็นบ้าเสียสติ /กลัวว่าตัวเองจะเสียชีวิต ซึ่งอาการเหล่านี้จะเป็นขึ้นมาอย่างรวดเร็วและจะมีอาการสูงสุดภายใน 10 นาที แต่มักจะไม่เกิน 1 ชั่วโมง ทำให้คนที่เป็นรู้สึกทรมานกับอาการมาก รู้สึกกลัว เช่น คิดว่าเป็นโรคหัวใจหรือกำลังจะเสียชีวิต จึงมักจะไปตรวจที่โรงพยาบาลทันที แพทย์ทำการตรวจร่างกายหรือตรวจเพิ่มเติมก็หาสาเหตุไม่พบ ยิ่งทำให้ผู้ที่มีอาการมีความกังวลขึ้นอีก กลัวว่าตัวเองจะมีอาการซ้ำขึ้นมา ซึ่งอาการก็สามารถเป็นขึ้นมาโดยที่ไม่รู้ตัวได้จริงๆ ทำให้รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน จนบางครั้งเกิดการหลีกเลี่ยงสถานที่หรือสถานการณ์ที่รู้สึกว่าอาจทำให้เกิดอาการ บางครั้งไม่กล้าไปไหนมาไหนคนเดียวเนื่องจากกังวลว่าหากเกิดอาการขึ้นจะไม่มีใครช่วยตนเองได้ ซึ่งภาวะนี้เรียกว่า agoraphobia นั่นเองค่ะ
อย่างไรก็ตามหากจะวินิจฉัยโรคแพนิค จำเป็นที่จะต้องตรวจประเมินทางด้านร่างกายก่อน เช่น ตรวจประเมินระบบหัวใจและการหายใจ หรือการทำงานของต่อมไทรอยด์เนื่องจากโรคทางด้านร่างกายบางโรคจะให้อาการคล้ายๆอาการข้างต้นได้
แม้ว่าอาการของโรคแพนิคฟังดูค่อนข้างน่ากลัว อาจทำให้ผู้ที่มีอาการรู้สึกกังวล โดยเฉพาะการกังวลว่าตนเองจะเสียชีวิต แต่โรคแพนิคก็ไม่ทำให้มีอันตรายถึงชีวิตและสามารถรักษาได้ค่ะ
การรักษาโรคแพนิค
หากท่านสงสัยว่ามีอาการของโรคแพนิคแต่ยังไม่แน่ใจ สามารถเข้ารับการประเมินและตรวจวินิจฉัยได้ค่ะ ซึ่งแนวทางการรักษาจะประกอบไปด้วยการใช้ยา การทำจิตบำบัด และการฝึกเทคนิคการผ่อนคลาย เช่น การฝึกการหายใจ รวมถึงลดตัวกระตุ้นที่จะทำให้เกิดอาการ ได้แก่ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน การพักผ่อนที่เพียงพอและการออกกำลังกายที่ไม่หนักจนเกินไปก็มีส่วนช่วยให้อาการแพนิคดีขึ้นได้เช่นกัน
อ้างอิง
Benjamin J. Sadock , Virginia A. Sadock , Pedro Ruiz MD. Kaplan and Sadock's Synopsis of Psychiatry, 2014.