top of page

23 สิงหาคม 2561

นพ. พร ทิสยากร

Charlie-Brown_Anxiety-300x235.jpg

คุณเอ เป็นคนไข้ผู้หญิงอายุประมาณกลางๆยี่สิบ ทำงานด้านการบริหารการเงิน ได้รับการแนะนำจากคุณหมอสมองให้มาพบจิตแพทย์เนื่องจากมีอาการปวดศีรษะเรื้อรัง ตรวจมานานก็ไม่พบอะไรผิดปกติชัดเจน รักษาหลายอย่างก็ไม่ดีขึ้น เมื่อพูดคุยกันพบว่าคุณเอเป็นคนขี้กังวล คิดมาก มีอาการอย่างนี้มาตั้งแต่สมัยเรียน ชอบคิดเรื่องในอนาคตที่ยังไม่เกิดในเรื่องลบๆ ส่วนใหญ่เรื่องเหล่านี้ก็มักจะไม่เกิดแต่ก็หยุดกังวลไม่ได้ ตึง ไม่ผ่อนคลาย อาการมากขึ้นเมื่อเริ่มทำงานบริษัทเพราะงานหนัก รู้สึกตัวเองทำงานไม่ดี เพื่อนร่วมงานเก่งกว่าตัวเองเยอะ เจ้านายคงไม่พอใจผลงาน แถมพูดในที่ประชุมก็ไม่รู้เรื่อง เงินก็อาจไม่พอ แล้วถ้าอนาคตป่วยอีกจะทำยังไง พ่อแม่ก็สุขภาพไม่ดี แฟนก็คงไม่มี น้องชายไปเรียนต่างประเทศก็กลัวจะเกิดอุบัติเหตุ เพื่อนก็คงไม่ชอบคุยกับเราเพราะเค้าก็วุ่นๆ คิดไปมาก็ปวดหัว ตึงคอไหล่ ไปนวดก็ไม่ดี กลัวจะต้องผ่าตัด ใจหวิวหายใจไม่สุด ช่วงนี้ก็ปวดท้องคลื่นไส้ท้องเสีย มือชาอ่อนเพลีย สงสัยนอนไม่พอ แต่เวลาจะนอนก็กลัวจะนอนไม่หลับ แล้วพยายามจะหลับก็ยิ่งไม่หลับ แล้วถ้าไม่หลับแล้วพรุ่งนี้ก็ต้องแย่แน่ๆ แล้วถ้าตกงานจะเป็นยังไง แม่ต้องว่าแน่เลย ...

ครับ ... โรควิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder) เป็นโรคกลุ่มวิตกกังวลที่พบได้บ่อยประมาณ 5-10% จากการศึกษาระดับประชากรในประเทศสหรัฐอเมริกา พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย สาเหตุอาจเกิดจากพันธุกรรม ความแปรปรวนของเคมีในสมอง โดยเฉพาะ norepinephrine, serotonin, และ GABA ลักษณะนิสัยพื้นฐานอาจเป็นคนขี้กังวลสูง (neuroticism) อยู่เดิม เติบโตเรียนรู้อยู่กับสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความกลัวกังวล มีวิถีการดำเนินชีวิตที่ตึงเครียด และมีทักษะในการจัดการความเครียดที่จำกัด

อาการหลักๆของโรควิตกกังวลทั่วไป คือ มีความรู้สึกความคิดวิตกกังวลหลายๆเรื่องอย่างมากเกินควบคุม ต่อเนื่องเกือบทุกวันนานเกินหกเดือน โดยมีอาการต่างๆร่วมด้วย เช่น อึดอัดกระสับกระส่าย อ่อนเพลีย หงุดหงิด สมาธิไม่ดี นอนหลับยาก ส่งผลให้เกิดความทุกข์ทรมานหรือส่งผลกระทบต่อการเรียน การทำงาน ความสัมพันธ์ต่างๆ บ่อยครั้งจะมีอาการทางร่างกายที่สัมพันธ์กับความเครียดกังวล ได้แก่ ปวดตึงศีรษะคอไหล่ หรือปวดบริเวณอื่นๆ เวียนศีรษะ ใจสั่น หายใจไม่สุด ท้องไส้ปั่นป่วน มือสั่นชา นอกจากอาการทางกาย ผู้ป่วยโรควิตกกังวลทั่วไปก็อาจพบมีปัญหาอื่นๆร่วมด้วย เช่น โรคซึมเศร้า โรคแพนิค โรคกลัวสังคม หรือการใช้สารเสพติดเช่นเหล้า บุหรี่ กัญชา เป็นต้น 

ถ้าคุณไม่แน่ใจว่ามีอาการของโรควิตกกังวลทั่วไปหรือไม่อาจลองไปทำแบบสอบถาม GAD-7https://www.mdcalc.com/gad-7-general-anxiety-disorder-7 ว่าคะแนนสูงเข้าข่ายมีโอกาสเป็นโรคหรือไม่

หากคุณเป็นคนเครียดกังวลอยู่เดิม การพักผ่อนอย่างเพียงพอ การออกกำลังกาย งดสารเสพติด มีสมดุลระหว่างงานกับการพักผ่อน ฝึกจัดลำดับความสำคัญ พูดคุยระบายขอความช่วยเหลือ ฝึกสติปล่อยวาง ก็อาจช่วยบรรเทาอาการได้ แต่หากยังไม่ดีขึ้น การประเมินอย่างละเอียดเพื่อวินิจฉัย ให้คำแนะนำ และการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญอาจช่วยท่านได้ โรควิตกกังวลสามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยากลุ่มต้านเศร้ากังวลเป็นหลัก และบางรายอาจแนะนำให้ใช้ยาคลายกังวลเพื่อบรรเทาความเครียดรุนแรงหรือช่วยนอนหลับในช่วงแรก การทำจิตบำบัด เช่น cognitive behavioral therapy ก็มีประโยชน์ในการรักษาภาวะนี้ โดยการรักษาด้วยยาร่วมกับการทำจิตบำบัดอาจให้ผลได้ดีที่สุดครับ

บทสรุป ... หลังเริ่มรักษาด้วยยาและการทำจิตบำบัดควบคู่กัน อาการวิตกกังวลก็ค่อยๆดีขึ้นใน 1-3 เดือน คุณเอสามารถนอนหลับได้ดีขึ้น เริ่มออกกำลังกาย และไปเที่ยวพักผ่อนกับครอบครัว มีสมาธิในการทำงาน ปรับตัวกับเพื่อนร่วมงานได้ และรู้สึกว่าทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น อาการทางกายหลายๆอย่างทุเลาลง จนเดี๋ยวนี้นานๆทีถึงต้องกินยาแก้ปวดหัว ก็คุยกันต่อถึงเทคนิคการทดสอบความคิดลบที่อาจไม่เป็นจริงเพื่อให้สามารถแย้งหรือปล่อยวางความกังวลได้ ร่วมกับฝึกฝนทักษะการจัดการความเครียดอย่างต่อเนื่อง คุณเอบอกว่าตอนนี้มั่นใจในการใช้ชีวิตมากขึ้นรู้สึกผ่อนคลายสบายเป็นปกติครับ

อ้างอิง:
1) Kessler RC1, Berglund P, Demler O, Jin R, Merikangas KR, Walters EE. Arch Gen Psychiatry. 2005 Jun;62(6):593-602. Lifetime prevalence and age-of-onset distributions of DSM-IV disorders in the National Comorbidity Survey Replication. 
2) Bjelland I1, Dahl AA, Haug TT, Neckelmann D. J Psychosom Res. 2002 Feb;52(2):69-77. The validity of the Hospital Anxiety and Depression Scale. An updated literature review.
3) Stein MB, Sareen J. N Engl J Med. 2015 Nov 19;373(21):2059-68. doi: 10.1056/NEJMcp1502514. CLINICAL PRACTICE. Generalized Anxiety Disorder.

bottom of page