อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น 2 (ฝั่งติดถนนพญาไท) ห้อง 253
ถนนพญาไท เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
Chamchuri Square Building
2nd floor (Phayathai Road side) Unit no. 253
Phayathai Road, Pathumwan, Bangkok 10330


(บัญชี Line ใหม่ของคลินิก)

เพราะอะไรซึมเศร้าถึงไม่ดีขึ้น
23 เมษายน 2561
นพ.พร ทิสยากร

Photo credit: www.pixabay.com
คำถามนี้เป็นคำถามที่หมอถูกถามบ่อยทั้งจากคนไข้และแพทย์ประจำบ้าน เป็นคำถามที่ท้าทายสำหรับทีมจิตแพทย์ผู้ให้การดูแลรักษาเพราะเป้าหมายของเรา คือ ทำให้ผู้รับบริการของเราฟื้นตัวจากอาการซึมเศร้าจนกลับสู่ภาวะปกติดั้งเดิมของแต่ละคน และกลับไปทำหน้าที่ของตัวเองได้ดีที่สุด ขณะเดียวกันเราก็ทราบดีว่าคำถามนี้เป็นคำถามที่สำคัญสำหรับผู้รับบริการของเราเช่นกันเพราะมันหมายถึงความทุกข์ทรมาน ความยากลำบากของชีวิตที่ต้องทนกับอาการซึมเศร้าต่อไป
สิ่งสำคัญที่จะตอบคำถามนี้ได้คือความร่วมมือกันระหว่างแพทย์และผู้ป่วยที่จะหาปัจจัยที่ส่งผลให้อาการซึมเศร้าไม่ดีขึ้นเพื่อเข้าไปดูแลจัดการปัจจัยนั้นๆ หน้าที่ของจิตแพทย์คือคิด วิเคราะห์ ตรวจ ถาม ค้นหาข้อมูลอย่างละเอียด ส่วนหน้าที่ของคนไข้และครอบครัวคือช่วยกันสังเกต จดบันทึก ให้ข้อมูล สอบถาม และสร้างสรรค์แผนการรักษาร่วมกันกับทีมผู้ดูแลของท่าน หมอนั่งคิดรวบรวมข้อมูลและสรุปออกมาได้ 9 ข้อ ว่าปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ซึมเศร้าไม่ดีขึ้น...
1. เพราะว่ายังไม่ถึงเวลาที่ภาวะซึมเศร้าจะดีขึ้น: คุณเศร้ามาหกเดือนเริ่มรักษามาแค่สิบวันแล้วจะหายดีเป็นปกติก็คงจะดีแต่มันยากมาก หมอตอบอย่างนี้เหมือนจะกวนแต่ข้อเท็จจริงจากการศึกษาในผู้ป่วยซึมเศร้าพบว่าหลังจากเริ่มการรักษาด้วยยา (ร่วมกับการรักษาพูดคุยอื่นๆ) ผู้ป่วยจะเริ่มรายงานว่ามีอาการดีขึ้นในระยะเวลาอย่างน้อยสองสัปดาห์หลังจากนั้น และจะดีขึ้นมากหลังเริ่มการรักษาหลายสัปดาห์หรือถึง 1-3 เดือน
2. เพราะว่าระดับของการรักษายังไม่ถึงตามความรุนแรงของภาวะซึมเศร้าของคุณ: บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยของเรามีอาการที่ดีขึ้นถ้าได้รับการรักษาที่เข้มข้นขึ้นถึงระดับความต้องการของคนคนนั้น เช่น ใช้ระดับยาที่สูงขึ้นโดยไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียง หรือมีชั่วโมงทำจิตบำบัดที่บ่อยขึ้น
3. เพราะคุณอาจมีโรคซึมเศร้าแบบที่รักษายาก: จากงานวิจัยพบว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้าประมาณ 20-30% จะตอบสนองไม่ค่อยดีต่อการรักษามาตรฐานด้วยยาหรือจิตบำบัดในสองขั้นแรก เพราะอะไรยังไม่แน่นอนแต่อาจจะสัมพันธ์กับพันธุกรรม ความรุนแรงของโรค หรือปัจจัยทางจิตใจสังคมที่รุนแรงแตกต่างกัน ทีมจิตเวชร่วมดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้อยู่เรื่อยๆและมีทางเลือกในการรักษาอื่นๆอีกพอสมควร เช่นการปรับสูตรยา จิตบำบัด หรือการรักษาด้วยไฟฟ้า
4. เพราะคุณอาจไม่ได้เป็นโรคซึมเศร้าแต่เป็นภาวะซึมเศร้าจากโรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar disorder, depressive episode): ผู้ป่วยโรคอารมณ์สองขั้วมีภาวะอารมณ์ที่ผิดปกติสองด้านคือด้านซึมเศร้ากับด้านแมเนีย (อารมณ์ขึ้นไปดีมากกว่าปกติ) ซึ่งช่วงเวลาซึมเศร้ามักจะพบบ่อยกว่าช่วงแมเนีย การรักษาโรคซึมเศร้าและภาวะซึมเศร้าของโรคอารมณ์สองขั้วนั้นแตกต่างกัน แต่ก็สามารถทำให้อาการกลับมาดีได้เป็นปกติทั้งสองโรค
5. เพราะคุณอาจไม่ได้เป็นโรคซึมเศร้าอย่างเดียวแต่มีโรคทางจิตเวชอื่นๆร่วมด้วย: เป็นปกติที่ผู้ป่วยหนึ่งคนจะมีปัญหาจิตเวชร่วมกันมากกว่าหนึ่งปัญหา คุณอาจไม่ได้เป็นโรคซึมเศร้าโดดโดด แต่ที่อาการยังไม่ดีขึ้นนั้นอาจเป็นเพราะปัญหาอื่นที่ซ่อนอยู่ยังไม่ได้รับการแก้ไข เช่น โรควิตกกังวลทั่วไป โรคแพนิค โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคกลัวสังคม ภาวะเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ ปัญหาทางบุคลิกภาพ เป็นต้น
6. เพราะคุณมีโรคทางกายที่สัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้า: โรคของต่อมไทรอยด์ โรคทางสมองเช่นลมชัก สมองเสื่อมอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน โรคเอสแอลอี โรคมะเร็งบางชนิด เป็นต้น ล้วนสามารถก่อให้เกิดภาวะซึมเศร้าโดยตรงได้ คล้ายคล้ายกันผู้ป่วยที่ทุกข์ทรมานจากโรคทางกายที่รุนแรงเรื้อรังเช่นโรคหัวใจ โรคปอด โรคปวดหลัง ก็ส่งผลให้เกิดอาการเศร้าทางจิตใจ ในทางกลับกันภาวะเศร้ากังวลก็ยิ่งทำให้อาการทางกายแย่ลงไปอีก เป็นรูปแบบความสัมพันธ์เชิงลบสองทาง ดังนั้นการรักษาร่วมกันทั้งทางร่างกายและจิตใจจะช่วยบรรเทาอาการทั้งระบบได้
7. เพราะคุณอาจจะใช้สารหรือยาต่างๆที่รบกวนอารมณ์: ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว สารเคมีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสารเสพติด หรือยารักษาโรคบางตัวก็อาจจะรบกวนสมองให้มีอาการเครียดเศร้าออกมาได้ ไม่ว่าจิตแพทย์จะให้การรักษาที่ดีแค่ไหนแต่ถ้าผู้รับบริการของเรายังดื่มสุราหนัก ใช้ยาไอซ์ หรือกัญชาต่อเนื่องอาการก็คงไม่ดีขึ้น ยาลดความอ้วน สมุนไพรหรือฮอร์โมนเร่งกล้ามเนื้อที่มี steroid หมอก็พบได้บ่อยที่ก่อให้เกิดปัญหาและคนไข้ส่วนหนึ่งก็ดีขึ้นได้เมื่อหยุดใช้สารเหล่านี้ด้วยความร่วมมือร่วมใจกันระหว่างผู้รับบริการ ครอบครัว และทีมจิตแพทย์
8. เพราะปัจจัยกระตุ้นความเครียดของคุณนั้นรุนแรงและยังคงอยู่: เราพูดคุยทำจิตบำบัดประคับประคองกับผู้รับบริการของเราเสมอ แต่บ้างครั้งปัญหาของแต่ละคน ปัญหาครอบครัวและสังคมมันก็โหดร้ายรุนแรงจนยากที่จะรับมือ ในสถานการณ์เหล่านี้การทำจิตบำบัดในรูปแบบเฉพาะ เช่น cognitive behavioral therapy, psychodynamic psychotherapy, หรือ family/couple therapy ก็อาจส่งผลดีต่อโรคซึมเศร้าได้
9. เพราะชนิดและความต่อเนื่องของการรักษาอาจจะไม่เหมาะสมพอ: คนแต่ละคนล้วนมีความพิเศษแตกต่าง คุณอาจตอบสนองต่อการทำจิตบำบัดบางประเภท หรืออาจตอบสนองดีมากกับยาตัวใดตัวหนึ่ง ขณะเดียวกันการรักษาที่ต่อเนื่อง รับประทานยาสม่ำเสมอตามที่แพทย์แนะนำ สอบถามและรายงานผลข้างเคียงจากยาที่เกิดขึ้นเพื่อที่คุณและแพทย์จะได้ปรับเปลี่ยนร่วมกันจนได้สูตรการรักษาที่ลงตัว ก็จะเพิ่มโอกาสในการหายจากโรคซึมเศร้าได้
อ่านแล้วอย่าเพิ่งท้ออย่าเพิ่งถอย คุณหรือคนที่คุณรักไม่ได้เผชิญปัญหานี้อยู่คนเดียว ยังมีผู้รับบริการของเราและครอบครัวอีกหลายคนที่ประสบกับภาวะซึมเศร้าแต่แล้วก็อาการดีขึ้นได้กลับไปเป็นปกติได้ ด้วยการทำงานร่วมกันระหว่างทีมสุขภาพจิตและทีมผู้ป่วย กอปรกับความรักความเข้าใจความอดทนที่คุณมีต่อตนเองและที่คนรอบข้างมีต่อคุณ ค่อยๆเป็นค่อยๆไป ภาวะซึมเศร้ารักษาได้ ดีขึ้นได้ครับ
อ้างอิงจาก:
1 Can J Psychiatry. 2016 Sep;61(9):506-9. doi: 10.1177/0706743716659061. Epub 2016 Aug 2. Canadian Network for Mood and Anxiety Treatments (CANMAT) 2016 Clinical Guidelines for the Management of Adults with Major Depressive Disorder: Introduction and Methods.
2 Sinyor M1, Schaffer A, Levitt A.Can J Psychiatry. 2010 Mar;55(3):126-35.The sequenced treatment alternatives to relieve depression (STAR*D) trial: a review.
3 Benjamin J. Sadock, Virginia A. Sadock, Dr. Pedro Ruiz MD. Kaplan and Sadock's Synopsis of Psychiatry: Behavioral Sciences/Clinical Psychiatry Eleventh Edition.
4 James L.Levenson. The American Psychiatric Publishing Textbook of Psychosomatic Medicine: Psychiatric Care of the Medically III 2nd (second) Edition.