อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น 2 (ฝั่งติดถนนพญาไท) ห้อง 253
ถนนพญาไท เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
Chamchuri Square Building
2nd floor (Phayathai Road side) Unit no. 253
Phayathai Road, Pathumwan, Bangkok 10330


(บัญชี Line ใหม่ของคลินิก)

เพราะโรคทางกายและโรคซึมเศร้าถึงมีความเชื่อมโยงกัน
24 พฤษภาคม 2561
นพ.พร ทิสยากร

เมื่อกลางสัปดาห์ หมอมีโอกาสได้ไปสอนเรื่องภาวะซึมเศร้าในโรคพาร์กินสันให้กับกลุ่มคุณหมอที่เชี่ยวชาญทางด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหว กลับมานั่งทบทวนสิ่งที่ตัวเองเรียบเรียงและสอนออกไปก็พบว่าปัญหาโรคทางร่างกายกับปัญหาทางจิตใจนั้นมีความซับซ้อนเกี่ยวพันและเกิดร่วมกันได้ง่ายมาก
รายงานจากหลายการศึกษาพบว่าผู้ป่วยที่มีโรคทางกายรุนแรงเรื้อรังหลายโรคก็ทุกข์ทรมานจากภาวะซึมเศร้าและพบโรคซึมเศร้าในกลุ่มผู้ป่วยโรคทางกายสูงกว่าประชากรทั่วไป เช่น โรคหัวใจพบมีภาวะซึมเศร้าร่วมด้วยประมาณ 17-27%, โรคถุงลมโป่งพอง 20-50%, โรคมะเร็ง 10-38%, โรคเส้นเลือดในสมองตีบหรือแตก 14-19% ,พาร์กินสัน 35% รวมถึงอาการปวดเรื้อรังก็พบปัญหาซึมเศร้าร่วมด้วยถึง 30-54%
มีการศึกษามากมายที่แสดงความสัมพันธ์ว่าการมีโรคทางกายส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้าโดยตรง เช่น ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ หรือโรคทางสมองบางชนิด คนไข้จะแสดงอาการด้านอารมณ์เศร้าออกมาได้บ่อย ขณะเดียวกันความทุกข์ทรมานจากความเจ็บป่วยของร่างกายก็เป็นตัวกระตุ้นทางจิตใจที่ทำให้คนคนนั้นเป็นโรคซึมเศร้าหรือโรควิตกกังวลตามมา
อีกทิศทางหนึ่งของความสัมพันธ์ระหว่างโรคทางกายกับโรคซึมเศร้าก็คือตัวโรคซึมเศร้าเองสามารถทำให้โรคทางกายแย่ลงได้เช่นกัน ภาวะเครียดเรื้อรังส่งผลต่อการทำงานหนักของฮอร์โมนเครียดและสารอักเสบไปกระทบต่อการทำงานของระบบต่างๆ เช่น ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบภูมิคุ้มกัน และการทำงานของสมอง ทำให้คนที่เป็นโรคซึมเศร้านั้นเจ็บป่วยง่ายขึ้นมากขึ้น ในส่วนผู้ป่วยโรคปวด พบว่าภาวะอารมณ์มีผลอย่างมากต่อความรุนแรงของสัญญานปวดที่ร่างกายรับรู้ เราเข้าใจว่าอารมณ์เศร้าย่อมทำให้คนที่เจ็บป่วยทางร่างกายนั้นนอนไม่หลับ กินไม่ดี ไม่มีแรงออกกำลังกายหรือทำกายภาพบำบัด บางครั้งเบื่อเศร้าก็ทำให้ผู้ป่วยไม่ร่วมมือกับการรักษาเช่นไม่กินยา ไม่พบแพทย์ หรือหยุดรักษาไปเลย
จะเห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างโรคทางกายกับโรคซึมเศร้านั้นเป็นความสัมพันธ์ด้านลบสองทางดังรูปที่แสดง ปัญหาคือเราแยกไม่ออกว่าอาการเปลี่ยนแปลงที่เราเห็นในผู้ป่วยนั้น เป็นอาการจากโรคทางกายหรือจากซึมเศร้า เนื่องจากเรี่ยวแรงการเคลื่อนไหวที่ลดลง การนอนไม่หลับ น้ำหนักลด หรือสมาธิความจำที่แย่ลงอาจเป็นผลจากทั้งโรคทางกายและใจได้ มีผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาสถานการณ์ทางคลินิกนี้แนะนำว่าให้พยายามสังเกตอาการหลักทางด้านอารมณ์หรือความคิดในการวินิจฉัยโรคซึมเศร้า เช่น อารมณ์เศร้าเบื่อกังวล สนใจอะไรรอบตัวน้อยลง มีความรู้สึกไร้ค่า รู้สึกผิด หรือมีความคิดอยากตาย นอกจากนั้นการแสดงออกด้านอื่นๆของผู้ป่วยก็อาจช่วยเสริมว่าผู้ป่วยนั้นมีโรคซึมเศร้าร่วมกับโรคทางกาย เช่น ความหงุดหงิดกระสับกระส่าย ร้องไห้บ่อย แยกตัว คิดวนเวียน มองอะไรในแง่ลบ เป็นต้น
เมื่อสามารถวินิจฉัยได้ว่าผู้ป่วยมีปัญหาทั้งด้านร่างกายและจิตใจ การรักษาทั้งสองด้านร่วมกันก็ย่อมส่งผลดีต่ออาการทางกาย การดำเนินโรคทางกาย พยากรณ์โรค รวมถึงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและผู้ดูแล การดูแลทางจิตเวชในผู้ป่วยทางกายได้แก่ การวินิจฉัยให้ถูกต้องว่าปัญหาทางอารมณ์ที่เป็นปัญหานั้นเกิดจากอะไร การติดต่อสื่อสารกับแพทย์สาขาอื่นเพื่อร่วมกันคุมอาการของโรคให้ดีที่สุด การใช้ยารักษาอาการซึมเศร้าวิตกกังวลหรือนอนไม่หลับ และการให้คำปรึกษาแนะนำเพื่อให้ผู้ป่วยและครอบครัวปรับตัวได้กับความเปลี่ยนแปลง
แม้บางครั้งความเจ็บป่วยทางร่างกายอาจเรื้อรัง แต่ผู้ป่วยหลายคนก็สามารถปรับตัวอยู่ร่วมกับความปกติใหม่ของชีวิตและใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพเท่าที่จะเป็นไปได้ ภาวะซึมเศร้าวิตกกังวลที่พบร่วมกับโรคทางกายสามารถบรรเทาเบาบางลงได้ครับ...
References
1. Evans DL et al. Mood disorders in the medically ill: scientific review and recommendations. Biol Psychiatry. 2005 Aug 1;58(3):175-89.
2. Katon WJ. Clinical and health services relationships between major depression, depressive symptoms, and general medical illness. Biol Psychiatry. 2003 Aug 1;54(3):216-26.
3. Endicott J.Measurement of depression in patients with cancer. Cancer. 1984 May 15;53(10 Suppl):2243-9.