top of page

1 สิงหาคม 2561

นพ. พร ทิสยากร

scaredy-cat.jpg

“I’ve had a lot of worries in my life, most of which never happened” … Mark Twain

ความกลัวกังวลเป็นอารมณ์ความรู้สึกพื้นฐานของมนุษย์ มีส่วนสำคัญในวิวัฒนาการของเผ่าพันธุ์เพราะความกลัวนั้นบ่อยครั้งนำมาซึ่งพฤติกรรมการต่อสู้หรือการหลีกหนี และความรู้สึกกังวลก็ทำให้เราคิดวางแผนเตรียมตัวในการเผชิญกับสถาณการณ์ที่ไม่แน่นอนในอนาคต แต่หากความกลัวกังวลอยู่ในระดับที่มากเกินไป นานเกินไป จนเกิดความทุกข์ทรมานและเกิดผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต นั่นอาจเป็นสัญญานเตือนของโรควิตกกังวลได้

"ความกลัว" คืออารมณ์ตอบสนองต่อภัยคุกคามที่คนคนนั้นรู้จักแจ่มแจ้งทันที เช่น กลัวสัตว์ กลัวเลือด กลัวที่แคบ เป็นต้น
"ความกังวล" มีลักษณะเป็นความรู้สึกความคิดไม่สบายใจหวาดหวั่นกระวนกระวายร่วมกับอาการของระบบประสาทอัตโนมัติที่ทำงานแปรปรวน เช่น ใจสั่น หายใจไม่อิ่ม เหงื่อแตก วิงเวียน ท้องไส้ปั่นป่วน ร่วมกับความตึงเครียดของกล้ามเนื้อส่วนต่างๆที่พบบ่อย คือปวดศีรษะ ปวดคอ ปวดหลัง เป็นต้น ความรู้สึกเหล่านี้เป็นการตอบสนองต่อภัยคุกคามที่ไม่รู้แน่ชัดขัดแย้งกันอยู่ข้างใน เช่น ความกังวลต่อการเรียน ความสัมพันธ์ ความเจ็บป่วย เป็นต้น

ตามกฏของ Yerkes-Dodson หากความเครียดกังวลค่อยๆเพิ่มขึ้นในระดับที่เหมาะสมอาจส่งผลดีให้คนคนนั้นสามารถแสดงสมรรถนะออกมาได้มากขึ้น แต่หากความเครียดกังวลสูงมากเกินไป ความสามารถ พฤติกรรม สมรรถภาพต่างๆก็จะลดลงมาก ดังเช่นผู้ป่วยโรควิตกกังวลหลายๆคนก็ไม่สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างราบรื่นเหมาะสม มีประสิทธิภาพในการเรียนการทำงานหรือการใช้ชีวิตที่ลดลงต่ำกว่าความสามารถจริงของตน เมื่อสิ่งกระตุ้นความกลัวกังวลเกิดขึ้น สมองของคนที่มีพันธุกรรมของโรควิตกกังวล คนที่มีนิสัยขี้กังวล หรือคนที่ประสบเหตุการณ์เลวร้ายในอดีตอาจตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นนั้นๆอย่างผิดปกติ เช่นศูนย์ความกลัว (amygdala) ที่ทำงานมากเกิน หรือสมองส่วนความคิดเหตุผล (prefrontal cortex) ที่ทำงานไม่ดี มีความแปรปรวนของสารสื่อประสาทในสมองที่เกี่ยวข้องกับระบบกลัวกังวลเช่น norepinephrine, serotonin, GABA เป็นต้น ส่งผลให้เกิดความรู้สึกและความคิดกังวลที่หลากหลาย นอกจากนั้นระบบนี้ยังส่งสัญญานเตือนภัยเชื่อมโยงไปยังระบบอื่นๆของร่างกายผ่านทางเส้นประสาท vagus ไปที่หัวใจ ปอด ทางเดินอาหาร หรือระบบอื่นๆของร่างกาย เกิดเป็นอาการทางกายที่ทุกทรมานจากความกังวลขึ้น สุดท้ายความเครียดกังวลเรื้อรังจะกระทบต่อวงจรฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองและต่อมหมวกไต ย้อนกลับส่งผลไม่ดีต่อการทำงานของเซลล์สมอง ระบบหัวใจและหลอดเลือด หรือระบบภูมิคุ้มกัน เป็นต้น

ใน DSM-5 กลุ่มโรควิตกกังวลถูกแบ่งเป็นโรคย่อยต่างๆตามลักษณะตัวกระตุ้น เรื่องราว อาการ และพยาธิสภาพของการเกิดโรคย่อยนั้นๆ ได้แก่ โรควิตกกังวลทั่วไป (generalized anxiety disorder), โรคแพนิค (panic disorder), โรคกลัว (specific phobia), โรคกลัวที่ชุมชน (agoraphobia), โรคกังวลต่อการเข้าสังคม (social anxiety disorder) เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีกลุ่มโรคใกล้เคียงที่ผู้ป่วยจะมีอาการวิตกกังวลมากร่วมด้วย เช่น โรคย้ำคิดย้ำทำ (obsessive compulsive disorder), โรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ (posttraumatic stress disorder), และโรควิตกกังวลกับความเจ็บป่วย (illness anxiety disorder) นอกจากนั้นโรคซึมเศร้า (major depressive disorder) ก็พบมีอาการวิตกกังวลร่วมด้วยได้บ่อย

อ่านแล้วก็คงรู้สึกและคิดกังวลกันไป ใจก็เต้นแรง หายใจก็ตื้นเร็ว ท้องไส้อาจเริ่มปั่นป่วน และปวดหัวตึงคอ ใจเย็นๆครับ กลุ่มโรคเหล่านี้สามารถรักษาได้ และผลการรักษาก็ค่อนข้างดี ผู้ป่วยหลายคนอาการดีจนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสำเร็จและปกติสุข เอาไว้หมอจะค่อยๆมาเล่าให้ฟังเพิ่มเติมต่อไป เริ่มจากโรควิตกกังวลทั่วไป (generalized anxiety disorder) ในครั้งหน้านะครับ...

อ้างอิง
1) Marc-Antoine Crocq, A history of anxiety: from Hippocrates to DSM. Dialogues Clin Neurosci. 2015 Sep; 17(3): 319–325. 
2) Benjamin J. Sadock , Virginia A. Sadock , Pedro Ruiz MD. Kaplan and Sadock's Synopsis of Psychiatry, 2014. 
3) Donald W. Black, M.D., and Jon E. Grant, M.D., M.P.H., J.D.DSM-5® Guidebook, 2014.

bottom of page